หน้าแรก นานาสาระ สมัครสมาชิก วิธีการสั่งซื้อ ติดต่อเรา
 
ประกันภัยรถยนต์
พรบ. รถยนต์ ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2+ ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3+ ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3 ชำระภาษี / ต่อทะเบียนรถยนต์
ประกันภัยประเภทอื่นๆ
ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยการเดินทาง ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ประกันภัยโรคมะเร็ง ประกันภัยผู้เล่นกอล์ฟ ประกันรถมอเตอร์ไซค์ 3+ ประกันรถมอเตอร์ไซค์หาย
บริการอื่นๆ
ประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี
HOTLINE :
(081) 567-0709
(085) 484-2882
ยินดีให้คำปรึกษาทุกปัญหาเรื่องประกัน
 
ความรู้เกี่ยวกับการประกันวินาศภัยและคำถามพบบ่อย
เราจะพยายามรวบรวมข้อมูล ความรู้ และคำถามที่พบบ่อยๆ เกี่ยวกับประกันวินาศภัยประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้เอาประกันได้ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประกัน ซึ่งหวังว่าเนื้อหาเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันหรือผู้ที่สนใจไม่มากก็น้อย
 
จะทำประกันรถยนต์ เลือกบริษัทไหนดี
เป็นคำถามที่พบบ่อยมากที่สุด บริษัทประกันแต่ละบริษัทก็จะมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไปบ้าง รวมถึงค่าเบี้ยประกันที่ต่างกัน โดยทั่วไปจะขอแนะนำแนวทางในการเลือกบริษัทประกันดังนี้
  • เลือกบริษัทประกันที่มีชื่อเสียง มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง และดำเนินธุรกิจมายาวนาน
  • พิจารณาจากอู่หรือศูนย์ ที่เมื่อเราเกิดอุบัติเหตุและจะนำรถเข้าไปซ่อม (อาจจะเป็นอู่หรือศูนย์ใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกในการเข้าไปติดตามผลการซ่อม หรือบางท่านอาจจะมีอู่ในดวงใจ) ว่ารับเคลมจากบริษัทประกันที่เราจะทำประกันหรือไม่
  • เลือกประเภทประกันตามความเหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นจะต้องเป็นประกันประเภท 1 เสมอไป บางท่านอาจจะทำประกันประเภท 2+ หรือ 3+ เพราะเบี้ยประกันภัยที่ถูกกว่า แต่ให้ความคุ้มครองที่เพียงพอกับความต้องการ
  • ตรวจสอบหรือขอใบเสนอราคาค่าเบี้ยประกันกับตัวแทนหรือนายหน้า (โบรกเกอร์) ที่เชื่อถือได้
  • นอกจากนี้อาจจะพิจารณาจากความนิยมจากผู้บริโภคโดยรวม หรือส่วนแบ่งตลาดของแต่ละบริษัท

สถิติความนิยมบริษัทประกันภัย จากการสำรวจปี 2555

หมายเหตุ : ข้อมูลจากนิตยสาร BrandAge ได้ดำเนินการจัดทำผลการสำรวจความเป็นที่นิยมประกันภัยรถยนต์จากจากผู้บริโภคที่กำลังใช้บริการ ประจำปี 2555

15 อันดับบริษัทประกันภัยรถ ยอดนิยมประจำปี 2556

หมายเหตุ : ข้อมูลสรุปบริษัทประกันภัยรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ยอดนิยมประจำปี 2556 โดยจัดอันดับจากเบี้ยประกันภัยรถรับโดยตรง ทั้งภาคบังคับ และภาคสมัครใจ ที่แต่ละบริษัทขายประกันภัยรถยนต์ได้ (ข้อมูลค่าเบี้ยสะสมรวม ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 ธันวาคม 2556 ไม่ใช่การสำรวจความนิยมจากผู้บริโภคโดยตรง)

หากซื้อรถยนต์ต่อจากบุคคลอื่นที่ได้ทำประกันภัย พรบ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไว้แล้ว ต้องทำอย่างไร
ไม่ต้องทำอะไร เพราะกรมธรรม์ต้องคุ้มครองรถยนต์จนครบกำหนดอยู่แล้ว

นายดำ นำรถยนต์ของตนไปประกันภัยรถยนต์โดยระบุชื่อนายดำ และนายแดง เป็นผู้ขับขี่ ต่อมานายดำโอนขายรถคันดังกล่าวให้แก่นายเขียว โดยมิได้มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงให้บริษัททราบ นายเขียวขับรถยนต์คันดังกล่าวไปชนรถผู้อื่นเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาท บริษัทซึ่งรับประกันภัยรถยนต์จะต้องชดใช้ค่าสินไหมให้แก่บุคคลภายนอกหรือไม่
บริษัทประกันภัยยังต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ (รวมถึงกรณีที่ไม่สามารถแจ้งคู่กรณีได้) แต่นายเขียวจะต้องร่วมรับผิดชอบในค่าเสียหายส่วนแรกสำหรับความเสียหายต่อรถของคุณเอง จำนวน 6,000 บาท และสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอกจำนวน 2,000 บาท

นาย ก โทรแจ้งบริษัท A ประกันภัย ขอทำประกันรถยนต์ โดยแจ้งรายละเอียดของรถและบริษัทได้แจ้งเลขที่การรับประกันให้ นาย ก ทราบ โดยนาย ก ยังไม่ได้จ่ายค่าเบี้ยประกัน หลังจากนั้น 10 นาที นาย ก ขับรถไปชนรถคันอื่น ในกรณีนี้ นาย ก จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่
บริษัทมีสิทธิปฎิเสธความคุ้มครองตามหลัก Cash before Cover – CBC ซึ่งเป็นหลักให้ผู้เอาประกันภัยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยก่อนการเริ่มต้นคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย การนำหลัก Cash before Cover มาปรับใช้กับการประกันภัยรถยนต์นี้ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป

นายสันติทำประกันรถยนต์ประเภท 1 ไว้ ระยะเวลาเอาประกันเริ่มต้น 15 มิถุนายน 2556 สิ้นสุด 15 มิถุนายน 2557 หากรถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุในวันที่ 15 มิถุนายน 2557 ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่
หากอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นภายในเวลา 16.30 น. ของวันที่ 15 มิถุนายน 2557 จะได้รับความคุ้มครอง

นาย เอ ทำประกันรถยนต์ประเภท 1 ไว้ และได้ขับรถยนต์ไปชนท้ายรถของนาง บี โดยที่ภายในรถของนาย เอ มีทีวีอยู่ 1 เครื่องเสียหายเนื่องจากจอแตก ส่วนรถของนาง บี มีคอมพิวเตอร์อยู่ท้ายรถเสียหายเช่นกัน กรณีนี้ทีวีของนาย เอ และ คอมพิวเตอร์ ของ นาง บี จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่
ทีวีของนาย เอ ไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะถือว่าเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินที่บรรทุกอยู่ในรถยนต์คันเอาประกันภัย แต่ คอมพิวเตอร์ ของ นาง บี ได้รับความคุ้มครองเพราะถือเป็นทรัพย์สินของบุคคลภายนอก

นายใหญ่นำรถยนต์ที่ทำประกันประเภท 1 ไว้ ขับข้ามชายแดนเพื่อไปเที่ยวในประเทศพม่าและประสบอุบัติเหตุ ในกรณีนี้จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่
ไม่ได้รับความคุ้มครอง เพราะเป็นการใช้รถยนต์นอกอาณาเขตประเทศไทย นอกเสียจากนายใหญ่จะแจ้งบริษัทประกันทราบก่อนแล้วชำระเบี้ยเพิ่ม (เดือนละ 5% แต่ไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันภัยเต็มปี) ก่อนจะขับไปประสบอุบัติเหตุในประเทศพม่า

เมื่อบริษัทปฎิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ผู้เสียหายสามารถเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราเท่าใด
ร้อยละ 15 ต่อปี

รถยนต์ที่ใช้รับจ้างทั่วไปสามารถทำประกันภัยประเภทระบุชื่อผู้ขับขี่ได้หรือไม่
ไม่ได้ ทำได้เฉพาะรถยนต์ที่ใช้ส่วนบุคคล

นายนิรันดร์นำรถไปจอดไว้ที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง หลังจากทำธุระเสร็จขณะเดินกลับมาที่รถ พบคนร้ายกำลังงัดรถอยู่ แต่เมื่อคนร้ายเห็นนายนิรันดร์เดินมาจึงหลบหนีไป นายนิรันดร์จึงเข้าไปที่รถพบว่ากุญแจประตูเสีย และปรากฎร่องรอยงัดแงะ หากรถคันดังกล่าวทำประกันประเภท 2 (คุ้มครองบุคคลภายนอก คุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ แต่ไม่คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์) บริษัทประกันจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่
ต้องรับผิดชอบ เพราะความสูญหาย หมายความรวมถึงความเสียหายที่เป็นผลมาจากการลักทรัพย์หรือพยายามลักทรัพย์

นาย ข นำรถยนต์ที่มีประกันประเภท 1 ไปใช้โดยได้รับความยินยอมจากนาย ก แต่ นาย ข ไม่เคยมีใบอนุญาตขับขี่ หาก นาย ข เกิดอุบัติเหตุนำรถคันดังกล่าวไปชนรถยนต์ของนาย ค บริษัทประกันจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร
บริษัทประกันรับผิดชอบเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก หรือ ของ นาย ค เท่านั้น ส่วนรถยนต์คันที่เอาประกันบริษัทสามารถที่จะปฎิเสธการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้

รายการ : การใช้รถยนต์ในตารางกรมธรรม์ได้ระบุการใช้รถยนต์ว่า "ใช้ส่วนบุคคล ไม่ใช้รับจ้างหรือให้เช่า" หากเกิดอุบัติเหตุและผู้เอาประกันได้ใช้รถยนต์ไปรับจ้างหรือให้เช่าและเป็นฝ่ายผิด บริษัทประกันรับผิดชอบค่าเสียหายหรือไม่อย่างไร
ประกันบริษัทสามารถที่จะปฎิเสธการชดใช้ค่าเสียหายของรถยนต์คันที่เอาประกันได้ แต่บริษัทยังต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก โดยผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก 2,000 บาท

รถยนต์ซึ่งทำประกันภัยประเภท 1 ในกรณีดังต่อไปนี้ บริษัทประกันจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร
1. ถูกคนร้ายราดน้ำมันเบรก ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย
2. ถูกคนร้ายใช้กุญแจขูดรถรอบคัน ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย
3. ถูกหินกระเด็นใส่กระจกทำให้กระจกแตก

บริษัทต้องรับผิดชอบเต็มจำนวน เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นมิใช่ความเสียหายที่เกิดจากการชน ดังนั้นผู้เอาประกันจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกแต่อย่างใด

ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยประมาททำให้รถเกิดเฉี่ยวชนและตัวรถคันเอาประกันเสียหายเป็นเงิน 80,000 บาท โดยผู้เอาประกันไม่สามารถแจ้งบริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ หากผู้เอาประกันทำประกันประภท 1 ไว้ บริษัทประกันจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร
บริษัทประกันต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก 2,000 บาท

ประกันอัคคีภัย

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย
ผู้เอาประกันส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่ากรมธรรม์ประกันอัคคีภัยคุ้มครองถึงภัยอะไรบ้าง จะนึกแค่ว่าคุ้มครองแค่ไฟไหม้เท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก ซึ่งจริงๆ แล้วกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยคุ้มครองความเสียหายเนื่องจาก ไฟไหม้ ฟ้าผ่า การระเบิด ภัยจากยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน และภัยเนื่องจากน้ำ (ไม่รวมน้ำท่วม) รวมถึงความเสียหายเนื่องจากภัยเพิ่มพิเศษตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ เช่น เช่น ภัยจากลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว หรือ ภัยจากการโจรกรรม เป็นต้น
ยกตัวอย่าง บ้านนาย เอก ทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยไว้ วันหนึ่งเกิดฝนตกหนักทำให้น้ำฝนรั่วเข้ามาในอาคารทางหลังคา ส่งผลให้ฝ้าเพดานเสียหาย ในกรณีนี้สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้ เพราะเป็นความเสียหายจากภัยเนื่องจากน้ำ

กรณีที่ผู้เอาประกันทำประกันอัคคีภัยสูงกว่าหรือต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพยสินที่เอาประกันภัย จะมีผลอย่างไรบ้าง
กรณีที่ผู้เอาประกันทำประกันอัคคีภัยสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง ผู้เอาประกันจะเสียค่าเบี้ยประกันสูงเกินความจำเป็นโดยเปล่าประโยชน์ ยกตัวอย่าง ผู้เอาประกันทำประกันอัคคีภัยบ้าน 10,000,000 บาท แต่มูลค่าที่แท้จริงคือ 5,000,000 บาท หากเกิดอัคคีภัยขึ้นทำให้บ้านเสียหายทั้งหลัง บริษัทก็จะจ่ายค่าสินไหมเพียงแค่ 5,000,000 บาท เท่านั้น
ส่วนกรณีที่ผู้เอาประกันทำประกันอัคคีภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ผู้เอาประกันจะต้องร่วมรับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าวด้วย ยกตัวอย่าง นายขาว ทำประกันอัคคีภัยร้านค้าของตนซึ่งมีมูลค่า 1,000,000 บาท ไว้ในวงเงินเอาประกันเพียง 600,000 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 60% ต่อมาเกิดไฟไหม้ทำให้ร้านเสียหายบางส่วน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 500,000 บาท นายขาวจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมเพียง 300,000 บาท (60% ของ 500,000 บาท)
หมายเหตุ ในกรณีที่ผู้เอาประกันกำหนดจำนวนเงินคลาดเคลื่อนจากมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน แต่ยังไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าที่แท้จริง บริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวน

นายแดงทำประกันอัคคีภัยบ้านของตนไว้ในวงเงิน 1,000,000 บาท โดยทำประกันภัยไว้กับ 2 บริษัท คือ บริษัท ก ในวงเงินเอาประกันภัย 600,000 บาท และ บริษัท ข ในวงเงินเอาประกันภัย 400,000 บาท ต่อมาเกิดไฟไหม้บ้านดังกล่าวบางส่วน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 500,000 บาท ดังนั้นบริษัทประกันภัยทั้งสองจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างไร
เนื่องจากนายแดงทำประกันภัยกับบริษัท ก คิดเป็นสัดส่วน 60% และบริษัท ข คิดเป็นดส่วน 40% ดังนั้นเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น 500,000 บาท บริษัท ก จะต้องจ่ายค่าสินไหม 60% ของ 500,000 บาท หรือเป็นเงิน 300,000 บาท และบริษัท ข จะต้องจ่ายค่าสินไหม 40% ของ 500,000 บาท หรือเป็นเงิน 200,000 บาท

นายดำเป็นผู้เช่าบ้านของนายแดง หากนายดำต้องการนำบ้านไปทำประกันอัคคีภัยจะสามารถทำได้หรือไม่
ไม่ได้เพราะนายดำไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน (บ้าน) หลังดังกล่าว แต่ในกรณีนี้ นายดำสามารถที่จะทำประกันอัคคีภัยเพื่อคุ้มครองทรัพย์สิน หรือเฟอร์นิเจอร์ของตนเองในบ้านเช่าได้

กรณีที่ทำประกันอัคคีภัยไว้ แล้วเกิดฟ้าผ่าต้นไม้ข้างบ้านแล้วต้นไม้นั้นล้มมาฟาดตัวที่บ้าน ทำให้บ้านได้รับความเสียหาย จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมจากบริษัทประกันหรือไม่
ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากเป็นสาเหตุสืบเนื่องจากฟ้าผ่า ซึ่งเป็นความคุ้มครองหลักตามกรมธรรม์

บ้านนาย เอ ทำประกันอัคคีภัยและอยู่ติดกับโรงงานนาย บี ซึ่งเป็นต้นเพลิง พนักงานดับเพลิงทำการดับเพลิงแล้วสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ โดยไฟไม่ได้ลามมาถึงบ้านนาย เอ แต่ตัวบ้านนาย เอ ได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำยาดับเพลิงที่พนักงานดับเพลิงใช้ดับไฟ กรณีนี้บ้านนาย เอ จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่
ได้ เพราะความเสียหายดังกล่าวเป็นสาเหตุสืบเนื่องจากไฟไหม้ ซึ่งเกิดจากการดับเพลิงของพนักงานดับเพลิงในระหว่างการปฎิบัติหน้าที่ดับเพลิง

กรณีฟ้าผ่าลงบนบ้านที่มีการทำประกันอัคคีภัยแต่ไม่เกิดเพลิงไหม้ ทำให้บ้านนั้นเกิดความเสียหายบางส่วน บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือไม่
จ่าย ตามความเสียหายที่แท้จริง

นายดวงดี ทำประกันอัคคีภัยไว้ในวงเงินเอาประกัน 1,000,000 บาท ทรัพย์สินที่เอาประกันประกอบด้วย ตัวอาคาร เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ต่อมาเกิดไฟไหม้ในละแวกบ้านของนายดวง นายดวงจึงขนโทรทัศน์ พัดลม วิทยุ ดีวีดี ออกมากองไว้นอกบ้าน แต่เนื่องจากไฟไม่ได้ลุกลามมาถึงบ้านของนายดวง แต่ทรัพย์สินที่ขนออกมานั้นถูกขโมยไป กรณีนี้บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายดวงหรือไม่ อย่างไร
ชดใช้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงในขณะเกิดเหตุ

ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA)

ผู้เอาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการแท้งลูก ซึ่งเป็นผลมาจากอุบัติเหตุได้หรือไม่
ไม่ได้ เพราะเป็นข้อยกเว้นในกรมธรรม์

นายสมชายทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้กับบริษัท ก ในวงเงินประกันภัย 300,000 บาท และกับบริษัท ข ในวงเงินเอาประกัน 200,000 บาท ต่อมา นายสมชาย เสียชีวิตจากการถูกรถชน และได้รับเงินชดเชยจากผู้ที่ขับรถชนแล้ว 500,000 บาท ทายาทของนายสมชายจะเรียกร้องจากบริษัทประกันได้อีกหรือไม่
สามารถเรียกร้องได้ จาก บริษัท ก 300,000 บาท และบริษัท ข 200,000 บาท รวม 500,000 บาท

นายดำ ทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้กับบริษัทประกันภัย 3 แห่ง แห่งละ 100,000 บาท โดยมีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแห่งละ 10,000 บาท ต่อมานายดำประสบอุบัติเหตุ และได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปทั้งสิ้น 22,000 บาท นายดำสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันได้ทั้งหมดเท่าไหร่
22,000 บาท

นาย เจ ทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้กับบริษัทประกันภัยมีข้อตกลงคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล 60,000 บาท ต่อมานาย เจ ได้เข้าร่วมการแข่งขันเจ็ทสกี และประสบอุบัติเหตุขาหัก จ่ายค่ารักษาพยาบาลไป 50,000 บาท นาย เจ จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่าไหร่
ไม่ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเลย เพราะเป็นข้อยกเว้นในกรมธรรม์

นาย เต้ ทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล โดยมีจำนวนเงินเอาประกัน 100,000 บาท และ ค่ารักษาพยาบาล 10,000 บาท ต่อมานาย เต้ ได้พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม นายเต้ ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลไป 12,300 บาท กรณีนี้นาย เต้ จะได้รับการชดเชยหรือไม่
ไม่ได้รับค่าชดเชยเลย เพราะพยายามฆ่าตัวตาย